ประวัติ[2] ของ เอวาริสต์_กาลัว

จดหมายหน้าสุดท้ายที่กาลัวเขียนถึงเพื่อนชื่อ Auguste Chevalier ในคืนก่อนที่เขาจะออกไปดวลปืน

กาลัวเกิดที่เมืองบูร์-ลา-แรน (Bourg-la-Reine) ใกล้กับกรุงปารีส ครอบครัวของกาลัวเป็นครอบครัวมีการศึกษาดี และบิดาเคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีของเมือง กาลัวและพี่น้องได้รับการศึกษาที่บ้านโดยมีมารดาเป็นผู้สอนจนถึงอายุ 12 ปี จึงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนประจำในกรุงปารีส เมื่อเข้าเรียนแล้วกาลัวกลับประสบปัญหาต้องซ้ำชั้นเมื่ออายุ 15 ปี ในปีต่อมา กาลัวพบว่าคณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่เขาชอบและเริ่มหลงใหลในวิชานี้ และเริ่มใช้เวลาอ่านตำราคณิตศาสตร์และขบคิดปัญหาต่อจนละเลยวิชาอื่น ทำให้ผลการเรียนโดยรวมของกาลัวไม่ดีนัก

อนุสรณ์รำลึกถึงของกาลัวที่สุสานในเมืองบูร์-ลา-แรน โดยที่ร่างของกาลัวถูกฝั่งในหลุมฝั่งศพรวม และตำแหน่งที่ฝั่งยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

ในปี ค.ศ. 1828 กาลัวไม่สามารถสอบเข้าเรียนต่อได้ที่ École Polytechnique อันเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำในเวลานั้น แต่ในปีต่อมา กาลัวสามารถตีพิมพ์ผลงานชิ้นแรกซึ่งเกี่ยวกับเศษส่วนต่อเนื่อง (continued fraction) ในวารสาร Annales de mathématiques

ในปี ค.ศ. 1829 เป็นเวลาที่ฝรั่งเศสมีความไม่สงบทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิยมกษัตริย์กับฝ่ายสาธารณรัฐ บิดาของกาลัวซึ่งอยู่ฝ่ายสาธารณรัฐถูกบาทหลวงนิกายเยซูอิต ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงกันข้าม ใส่ร้ายจนต้องฆ่าตัวตาย ในปี ค.ศ. 1829 หลังจากบิดาเสียชีวิต กาลัวพยายามสอบเข้า École Polytechnique อีกครั้งแต่ไม่สำเร็จเช่นเคย ทั้งนี้เพราะความหัวแข็งและอารมณ์ร้อนจึงทำให้มีปัญหากับกรรมการสอบ ต่อมากาลัวได้ส่งบทความเกี่ยวกับการแก้สมการพีชคณิตไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์ (Académie des Sciences) แต่ก็ไม่ได้รับการตีพิมพ์ เพราะผู้อ่านบทความคือ โคชี อ้างว่าทำบทความหาย จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้กาลัวรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งแต่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

หลังจากผิดหวังจากการสมัครเรียนที่ École Polytechnique กาลัวจึงได้สมัครเข้าเรียนต่อที่ École Normale Supérieure ซึ่งมีชื่อเสียงน้อยกว่า École Polytechnique ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1830 ได้เกิดปฏิวัติในฝรั่งเศสอีกครั้ง ผู้อำนวยการของ École Normale Supérieure ได้สั่งขังนักศึกษาไว้ในสถาบันเพื่อไม่ให้นักศึกษาไปร่วมการปฏิวัติ เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้กาลัวไม่พอใจเป็นอันมาก กาลัวจึงเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน ส่งผลให้เขาถูกไล่ออกจากสถาบัน

การที่กาลัวอยู่ฝ่ายสาธารณรัฐ ทำให้เขาถูกจับตาจากทางการและถูกจับกุมในปี ค.ศ. 1831 ด้วยข้อหามุ่งร้ายต่อพระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปส์ และในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาได้รับการปล่อยตัวแต่ก็ถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหาแต่งเครื่องแบบต้องห้าม กาลัวเสียชีวิตจากการดวลปืน ซึ่งก็ได้มีทฤษฎีที่กล่าวถึงสาเหตุการดวลปืนครั้งนั้นเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือ ในระหว่างถูกคุมขังครั้งที่สองนั้นเอง กาลัวได้ตกหลุมรักกับผู้หญิงคนหนึ่งแต่ถูกบอกเลิก กาลัวได้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทจนถูกชายผู้หนึ่งท้าดวล ส่วนแนวทางที่สองคือ เนื่องจากกาลัวเป็นผู้ที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทางฝ่ายสาธารณรัฐ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการดวลปืนกันครั้งนั้นอาจจะเป็นการจัดฉากโดยฝ่ายรัฐบาล

ในคืนสุดท้ายก่อนที่กาลัวจะเสียชีวิต เขาได้บันทึกองค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ทั้งหมดที่เขาคิดขึ้นตลอดทั้งคืน ในเช้าของวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1832 กาลัวถูกยิงที่ท้องได้รับบาดเจ็บสาหัสจนมีชาวบ้านมาพบและนำส่งโรงพยาบาล กาลัวเสียชีวิตในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1832 ในงานศพของกาลัว กลายเป็นงานชุมนุมของฝ่ายสาธารณรัฐ มีผู้ร่วมงานนับพันคนและเกิดการจลาจลติดต่อกันหลายวัน

ภายหลังจากเสียชีวิต น้องชายและเพื่อนสนิทของกาลัว ได้คัดลอกบทความของเขา และส่งให้นักคณิตศาสตร์ชั้นนำหลายคน อาทิ เช่น ปีเตอร์ กุสตาฟ ยาโคบี และ คาร์ล ฟรีดริช เกาส์ ในภายหลังมีนักคณิตศาสตร์ชื่อ ลียูวิล ได้นำผลงานของเขาไปตีพิมพ์ในในปี ค.ศ. 1846 ผลงานเหล่านี้ต่อมาได้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ทฤษฎีกาลัว (Galois theory)

แหล่งที่มา

WikiPedia: เอวาริสต์_กาลัว http://www.dumaspere.com/pages/bibliotheque/chapit... http://www.physics.princeton.edu/~trothman/galois.... http://numericalmethods.eng.usf.edu http://numericalmethods.eng.usf.edu/anecdotes/galo... http://visualiseur.bnf.fr/ark:/12148/cb343487840/d... http://perso.univ-rennes1.fr/antoine.chambert-loir... http://perso.wanadoo.fr/frederic.gales/Laviedegalo... http://www.galois-group.net http://www.galois-group.net/dupuy/index.php http://www.phys.uu.nl/~witte/EvaristeTheatricalTra...